พณ.ประกาศราคาแนะนำรับซื้อผลปาล์มดิบ 4-4.35 บาท/กก. มีผลวันนี้

กรมการค้าภายในออกประกาศราคารับซื้อผลปาล์มทะลาย/น้ำมันปาล์มดิบ แนะนำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมีผลบังคับใช้วันนี้

 

bde866a03826e7b351e8d471e2f

วันนี้ (21ธ.ค.55) น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน ในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการกลาง ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจากราคาผลปาล์มตกต่ำ เนื่องจากปริมาณสต็อกคงเหลือน้ำมันปาล์มดิบมีมากเกินกว่าปริมาณสต็อก ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกลดต่ำลงมาก คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ หรือ กนป. จึงมีมติให้ดูดซับน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบตลาดปริมาณ 50,000 ตัน โดยมีกำหนดราคารับซื้อปาล์มทะลายและน้ำมันปาล์มดิบให้สอดคล้องกัน  

โดยกำหนดให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มรับซื้อผลปาล์มทะลายจากเกษตรกรในราคาหน้าโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มตามอัตรา คือ หากสกัดแล้วได้อัตราน้ำมันร้อยละ 17 ให้รับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท และอัตราน้ำมันร้อยละ 18.5 ให้รับซื้อในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4.35 บาท 

 

ให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไบโอดีเซล และผู้รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบทั่วไปรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในราคาไม่ต่ำกว่า กิโลกรัมละ 25 บาท ส่งมอบหน้าคลังผู้ซื้อในเขต กทม.และปริมณฑล และให้ผู้รับซื้อปิดป้ายแสดงราคารับซื้อผลปาล์มทะลาย ณ สถานที่รับซื้อหรือบริเวณใกล้เคียงให้ชัดเจนและต้องรับซื้อให้ตรงกับราคาที่แสดงไว้ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 140,000 บาท หากพบว่ารับซื้อต่ำกว่าราคาแนะนำ

 

พาณิชย์เตรียมประกาศราคาแนะนำรับซื้อผลปาล์มดิบ 4-4.35 บาท/กก.

 

20121220161103-640x390x2

 

ก.พาณิชย์ 20 ธ.ค. – ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายวันนี้ (20 ธ.ค.) มีการประชุมแก้ไขปัญหาราคาปาล์มตกต่ำระหว่างกระทรวงพาณิชย์ สมาคมโรงกลั่น ตัวแทนโรงสกัด และผู้ผลิตไบโอดีเซล เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือเกษตรกร และแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

น.ส.วิบูลลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เตรียมประกาศราคาแนะนำรับซื้อผลปาล์มดิบ 4-4.35 บาท ตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันของผลปาล์มทันทีตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เบื้องต้นคาดว่าจะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ 50,000 ตัน หลังจากนั้นจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ขณะที่โรงกลั่นจะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดที่ราคากิโลกรัมละ 25 บาท และทางรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างราคาให้ เพราะราคารับซื้อสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบันที่อยู่ที่ 20-21 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันปาล์มบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร ไม่เกิน 42 บาทต่อขวด ได้เหมือนเดิม

สำหรับรายละเอียดในการปฏิบัติจากการประชุมครั้งนี้จะเสนอต่อ รมว.พาณิชย์ ก่อนที่จะประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) สัปดาห์หน้า และจะนำผลการหารือดังกล่าวเผยแพร่ให้กับกลุ่มเกษตรกรที่เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือได้รับทราบอย่างทั่วถึงด้วย

ด้านนางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลต้องหามาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำมันปาล์มด้วย หลังจากที่ผ่านมาไทยส่งออกน้ำมันปาล์มลดลง เนื่องจากมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกน้ำมันปาล์มที่กิโลกรัมละ 10 บาท ทำให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ไทยส่งออกน้ำมันปาล์มได้เพียง 170,000 ตัน จากปกติที่ส่งได้ 300,000-400,000 ตันต่อปี ทำให้ขณะนี้สตอกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีมากเกินความจำเป็น อยู่ที่ 340,000 ตัน จากปริมาณสตอกที่เหมาะสมอยู่ที่ 200,000 ตัน

ส่วนการแทรกแซงราคาปาล์มตามมติ กนป. ทุกภาคส่วนเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะที่ต้นทุนของเกษตรกรอยู่ที่ 3.80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีกำไรร้อยละ 30 ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นสตอกขณะนี้ทำให้ราคาในตลาดโลกชะลอลง ประกอบกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีสตอกน้ำมันปาล์มดิบจำนวนมาก และรัฐบาลแต่ละประเทศกำลังทบทวนนโยบายการส่งออกอยู่ด้วย ซึ่งปัญหานี้ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ด้านนายลือชา อุ่นยวง นายกสมาคมชาวสวนปาล์ม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ขณะนี้ราคาปาล์มน้ำมันยังอยู่ในภาวะทรงตัวระดับต่ำ คือ 3.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงรวมค่าแรง ค่าขนส่งอยู่ที่เฉลี่ย 4.20-4.29 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งทางเกษตรกรชาวสวนปาล์มทั้งภาคใต้ต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำอย่างทันท่วงที เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มร้อยละ 10 และการลดการผลิตไบโอดีเซล ทำให้มีผลผลิตตกค้างในประเทศในส่วนการส่งออกถึง 200,000 ตันต่อปี ส่วนการผลิตไบโอดีเซลอยู่ที่ 40,000-50,000 ตันต่อปี เมื่อผลผลิตเหล่านี้ตกค้างก็ส่งผลให้ผลผลิตล้นสตอก และราคาตกต่ำลง ทั้ง ๆ ที่สตอกและผลผลิตในภาพรวมไม่ได้แตกต่างจากปีที่แล้ว ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าราคาปาล์มน้ำมันที่ตกต่ำไม่ได้เกิดจากผลผลิตที่ออกมาจำนวนมาก แต่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล

นายกสมาคมชาวสวนปาล์ม จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวอีกว่า ประเทศที่เคยนำเข้าจากไทยก็ลังเลว่าจะนำเข้าอีกหรือไม่ เพราะไม่เชื่อมั่นใจนโยบายของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายปาล์มน้ำมัน ส่วนที่มีการมองว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของเกษตรกรชาวสวนปาล์มนั้นไม่อยากพูดถึง เพราะในส่วนของสมาชิกสมาคมไม่มีแน่นอน เพราะเกิดจากปัญหาที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากรัฐบาล ทั้งนี้ พร้อมจะยอมรับผลการประชุมของกระทรวงพาณิชย์ได้ หากว่าช่วยเกษตรไม่ให้ราคาผลปาล์มต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม เพราะทุกวันนี้ก็ขาดทุนอยู่แล้ว.- สำนักข่าวไทย

กกร.ขึ้นบัญชีคุมปาล์มน้ำมัน พร้อมสั่งนมต้องขออนุญาติก่อนขึ้นราคา

       กกร.บรรจุผลปาล์มเข้าบัญชีสินค้าควบคุม หลังพบผันผวนหนัก จึงต้องกำกับดูแลใกล้ชิด พร้อมสั่งนมสด นมกล่อง นมยูเอชที นมพาสเจอไรซ์ ต้องขออนุญาตก่อนปรับราคาทุกครั้ง หวั่นต้นทุนพุ่งผู้ผลิตฉวยโอกาสขึ้นราคา ส่วนข้าว มัน ข้าวโพด ต้องแจ้งการขนย้าย สกัดสวมสิทธิ ปัดคุมค่าซ่อมรถยนต์ แต่ขอให้ปิดป้ายให้ชัดเจน
       
       นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้พิจารณาเห็นชอบบัญชีสินค้าและบริการควบคุมปี 2556 โดยได้เพิ่มผลปาล์มน้ำมันเข้าสู่บัญชีสินค้าควบคุมอีก 1 รายการ ส่งผลให้บัญชีสินค้าและบริการควบคุมปีนี้ปรับเพิ่มจาก 42 รายการ เป็น 43 รายการ โดยเหตุผลที่ต้องเพิ่มผลปาล์มเข้ามา เพราะที่ผ่านมาราคาปาล์มผันผวน และผลผลิตไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร และผู้บริโภค จึงต้องมีการติดตามความเคลื่อนไหวราคาตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง พร้อมกับให้ติดป้ายราคารับซื้อผลปาล์มให้ชัดเจน
       
       ทั้งนี้ ยังได้เห็นชอบให้เพิ่มมาตรการกำกับดูแลสินค้าควบคุมเดิมให้มีความเข้มงวดเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มนมสด นมกล่อง นมยูเอชที นมพาสเจอไรซ์ ผู้ผลิตจะต้องทำเรื่องขออนุญาตกรมการค้าภายในก่อนปรับราคาทุกครั้ง แตกต่างจากเดิมที่ให้แจ้งเพื่อทราบเท่านั้น เนื่องจากแนวโน้มวัตถุดิบ และนมผงปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องจึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลกลุ่มสินค้าเกษตร ได้แก่ พันธุ์ข้าวเปลือก ได้กำหนดให้ผู้รับซื้อพันธุ์ข้าวจะต้องแจ้งที่มาที่ไปของการรับซื้อ และสถานที่จัดเก็บให้ชัดเจน รวมทั้งให้มีการควบคุมการขนย้ายข้าวสารปริมาณตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป จะต้องแจ้งสถานที่ ปริมาณก่อนขนย้าย เพื่อป้องกันการนำเอกสาร และแอบอ้างสวมสิทธิแก่เกษตรกร
       
       ขณะเดียวกัน กำหนดให้ควบคุมการขนย้ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปริมาณตั้งแต่ 10 ตันขึ้นไป และมันสำปะหลังตั้งแต่ 5 ตันขึ้นไป จะต้องแจ้งสถานที่ ปริมาณก่อนขนย้าย เพื่อป้องกันการนำเอกสาร และแอบอ้างสวมสิทธิแก่เกษตรกร พร้อมทั้งให้ขยายระยะเวลาการแจ้งนำเข้าปุ๋ยเคมีชนิดเม็ด และชนิดผง ยกเว้นชนิดน้ำ เพิ่มจาก 15 วัน เป็น 30 วัน เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการตรวจสอบเอกสาร
       
       นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้คงมาตรการการปิดป้ายแสดงราคาสินค้าและบริการในสินค้าเดิม 237 รายการ และบริการอีก 48 รายการเช่นเดียวกับปีที่แล้ว รวมถึงให้ติดป้ายการรับซื้อสินค้าเกษตร 30 รายการ และเพิ่มการติดป้ายราคาเนื้อมะพร้าวขาวเพิ่มเติม เพื่อป้องกันการเอาเปรียบเกษตรกรจากโครงการแทรกแซงราคาของภาครัฐ ส่วนการดูแลค่าบริการซ่อมรถยนต์ยังไม่มีการพิจารณาเข้าบัญชีบริการควบคุม แต่สั่งให้มีการติดป้ายค่าซ่อมอย่างชัดเจน

 

ธุรกิจปาล์มน้ำมันหลังก้าวเข้าสู่ AEC

ธุรกิจปาล์มน้ำมันหลังก้าวเข้าสู่ AEC

     ปาล์มน้ำมัน เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อประเทศ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ รวมถึงการช่วยสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และด้านพลังงานของ ประเทศ ปัจจุบัน แม้ว่าไทยจะสามารถผลิตน้ำมันปาล์มได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศในด้านต่างๆ แต่จากโครงสร้างการผลิตที่ส่วนใหญ่จะเป็นเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มของไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งนับว่าเป็นจุดอ่อนสำคัญที่จะมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทย หากไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราภาษีนำเข้าน้ำมันปาล์มของไทยจะลดลงเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันไทยยังคงมีมาตรการควบคุมการนำเข้านำมันปาล์ม โดยกำหนดให้น้ำมันปาล์มเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศ ซึ่งจะช่วยชะลอผลกระทบ และยังคงมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวเพื่อลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพในการผลิตน้ำมันปาล์มให้สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายใหญ่ในอาเซียนได้ภายหลังจากที่ก้าวเข้าสู่ AEC ในปี 2558

 อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย ปี 2555

     ปาล์มน้ำมัน นับว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบัน ไทยมีจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่า 1.28 แสนครัวเรือน มีพื้นที่เพาะปลูก และพื้นที่ให้ผลผลิตประมาณ 4.28 และ 3.98 ล้านไร่ ตามลำดับ สามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ปีละ 1.9 ล้านตัน ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรประมาณ 6 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มดิบของไทยในปี 2555 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 5-7 จากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากที่ภาครัฐได้มีการดำเนินยุทธศาสตร์ปาล์มน้ำมันในช่วงปี 2551-2555 เพื่อเร่งผลัก ดันให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน เพิ่มผลผลิต และผลิตภาพการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพื่อรองรับกับยุทธศาสตร์พลังงานทดแทน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อความมั่นคงทาง ด้านอาหารของประเทศ ประกอบกับราคาผลปาล์มดิบในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่มีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 4 บาทในปี 2552 ปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 6 บาทในปี 2555 จึงเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่การเพาะปลูก

 

AECAnalysis_5509210101

 

     ส่วนทางด้านของปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มในประเทศ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ภายในประเทศ โดยการใช้น้ำมัน ปาล์มสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ

      ใช้เพื่อการบริโภค (ร้อยละ 60) ทั้งในรูปแบบของน้ำมันพืชที่ใช้ในการประกอบอาหาร และใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ เช่น ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน ครีมและเนยเทียม ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มนับว่าเป็นน้ำมันพืชที่มีการใช้บริโภคมากที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 65 ของมูลค่าตลาดน้ำมันพืชทั้งหมด เนื่องจากน้ำมันปาล์มมีราคาที่ค่อนข้างถูกหากเทียบกับน้ำมันพืชประเภทอื่น ประกอบกับคุณสมบัติที่เหมาะในการประกอบอาหารประเภททอด และไม่ทำให้อาหารมีกลิ่นหืน จึงทำให้คนส่วนใหญ่นิยมเลือกบริโภคน้ำมันปาล์ม

     ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทน ที่เรียกว่าไบโอดีเซล (ร้อยละ 28) เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ อีกทั้งยังจะช่วยลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ 21 ในปี 2551 เพิ่มเป็นร้อยละ 28 ในปี 2554 และสำหรับในปี 2555 คาดว่าการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานจะยังคงมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 35-40 ของการใช้น้ำมันปาล์มทั้งหมด

      ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ (ร้อยละ 13) เช่น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ต่างๆ และอาหารสัตว์

     สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในปี 2555 แม้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรจะมีการคาดการณ์ว่าน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้จะมีปริมาณ มากกว่า 1.9 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-7 แต่ในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงเผชิญปัญหาน้ำมันพืชบรรจุขวดที่วางจำหน่ายไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในบางช่วง โดยมีสาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการใช้ผลิตพลังงานทดแทน ประกอบกับปริมาณผลผลิตปาล์มในช่วงที่ผ่าน มาออกสู่ตลาดน้อยลงกว่าช่วงปกติ เพราะเป็นช่วงนอกฤดูกาลผลิตและประสบปัญหาสภาพอากาศร้อนแล้งเมื่อช่วงต้นปี นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในทวีปอเมริกา (สหรัฐฯ บราซิล อาร์เจนตินา) กดดันให้ราคาน้ำมันพืช เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจูงใจให้การส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2555 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 364 และร้อยละ 92.3 ตามลำดับ

     จากปัญหาน้ำมันพืชขาดตลาดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุญาตการนำเข้าน้ำมันปาล์มปริมาณ 4 หมื่นตัน สำหรับใช้ในการผลิตน้ำมัน ปาล์มบรรจุขวด เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำมันปาล์มขาดตลาดและชะลอการปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่กำหนดเพดานไว้ที่ 42 บาทต่อขวด (1 ลิตร) ในขณะที่ทางกรมพัฒนาธุรกิจ พลังงานต้องประกาศปรับลดสัดส่วนในการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ บี 100 ในการผลิตไบโอดีเซล เหลือร้อยละ 3.5-5 ต่อน้ำมันดีเซล 1 ลิตร (จากเดิมร้อยละ 4.5-5) เพื่อลดการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ในการผลิตพลังงานทดแทน และมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณการผลิตน้ำมันปาล์มที่ออกสู่ตลาดในระยะถัดไป ยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ คือ ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แนวโน้มราคาพืชน้ำมันและน้ำมันพืชในตลาดโลก ยังคงเผชิญปัญหาภัยแล้งในทวีปอเมริกา รวมถึงมาตรการนโยบายภาครัฐต่างๆ เช่น การส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานทดแทน (ไบโอดีเซล) และมาตรการชะลอการปรับขึ้นของค่าครองชีพและราคาสินค้า ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันพืชบรรจุขวดขนาด 1 ลิตร

 ผลกระทบจากการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ต่ออุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย

     อาเซียนเป็นแหล่งผลิตน้ำมันปาล์มหลักของโลก ซึ่งมีประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย เป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ โดยผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้ในปี 2555 มีปริมาณประมาณ 27 ล้านตัน และ 18 ล้านตัน1 หรือมีปริมาณผลผลิตรวมกันกว่าร้อยละ 87 ของปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มทั้งหมด ส่วนประเทศไทยเป็นผู้ผลิตที่สำคัญอันดับสาม แต่ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ผลิตได้น้อยมากหากเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย โดยที่ไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 1.9 ล้านตัน2 หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.3 ของปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบทั้งหมด ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบที่ไทยผลิตได้ส่วนใหญ่มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และการใช้เพื่อการผลิตพลังงานทดแทน ยกเว้น บางปีที่เผชิญกับปัจจัยเสี่ยงจากสภาพอากาศ จนทำให้ไทยต้องนำเข้าน้ำมันปาล์มเพื่อใช้ในการบริโภค

 
     สำหรับการเปิดเสรีสินค้าน้ำมันปาล์มภายใต้กรอบอาเซียน แม้ว่าไทยจะทยอยปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าน้ำมันปาล์มให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนจนเหลือ ร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 แต่ปัจจุบันการนำเข้าน้ำมันปาล์มของไทย ยังคงต้องมีการขออนุญาตนำเข้า (Import license) และจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้ตามความเหมาะสมของ สถานการณ์3 อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งไทย ต้องทยอยปรับลด/เลิกมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีต่างๆ เพื่อให้สินค้าและบริการมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรี ซึ่งข้อผูกพันดังกล่าว สร้างความกังวลอย่างมากต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจน้ำมันปาล์ม เนื่องจากการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยยังมีจุดอ่อนทางด้านศักยภาพการผลิต หากเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่อย่างเช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย กล่าวคือ

  

 AECAnalysis_5509210103

 

      การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของไทยยังคงได้ปริมาณผลผลิตค่อนข้างต่ำ ประมาณ 14.47 ตัน/เฮกเตอร์ ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้ผลผลิต ประมาณ 16.76 และ 21.90 ตัน/เฮกเตอร์

      อัตราการให้น้ำมันของผลผลิตปาล์มน้ำมันของไทยประมาณร้อยละ 15.7 ในขณะที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีอัตราที่สูงถึงร้อยละ 22 และ 19.4 ตามลำดับ

     สาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตปาล์มน้ำมันของประเทศผู้ผลิตทั้งสองมีศักยภาพการผลิตที่สูงกว่าไทย มาจากทั้งสองมีพื้นที่การเพาะปลูกปาล์มที่มี ขนาดใหญ่ มีการปลูกปาล์มน้ำมันแบบครบวงจรทำให้สามารถวางแผนการผลิตและควบคุมต้นทุนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาเลเซีย ซึ่งมีศักยภาพการผลิตสูงสุด การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเกษตรกรรายใหญ่ (ร้อยละ 60) และผู้ผลิตปาล์มในรูปแบบสหกรณ์หรือนิคมกว่าร้อยละ 30.5 ส่วนที่เหลือเพียงร้อยละ 9.5 เป็นเกษตรกรรายย่อย ที่ มีพื้นที่การเพาะปลูกประมาณ 250 ไร่ต่อราย ซึ่งแตกต่างกับเกษตรกรรายย่อยของไทยที่มีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 และมีพื้นที่เพาะปลูกไม่เกินรายละ 25 ไร่ นอกจากนี้ โรงสกัดและบีบน้ำมัน ของมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตมาก และยังมีการสกัดน้ำมันแยกระหว่างเนื้อปาล์มและเนื้อในเมล็ดปาล์ม (palm Kernel) ซึ่งจะช่วยให้อัตราการให้น้ำมันมีมากขึ้นกว่าการสกัดรวมผลปาล์มน้ำมันทั้งผล

 

 AECAnalysis_5509210104 

     ทั้งนี้ จุดอ่อนทางด้านศักยภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของไทย ส่งผลให้ไทยมีต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์ม และราคาน้ำมันปาล์มสูงกว่า หากเทียบกับ ราคาของมาเลเซียที่เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก โดยราคาเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553 – 2555) น้ำมันปาล์มดิบของไทยสูงกว่าราคาของมาเลเซียประมาณร้อยละ 8 และ ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ของไทยสูงกว่ามาเลเซียถึงร้อยละ 14.3 ดังนั้น หากในอนาคตภายหลังจากที่ไทยก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจำเป็นต้องลด/ยกเลิกข้อจำกัดที่ไม่ ใช่ภาษี ในเรื่องของการขออนุญาตนำเข้าน้ำมันปาล์ม อาจส่งผลให้น้ำมันปาล์มจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่มีข้อได้เปรียบทางด้านราคา มีการนำเข้ามาในประเทศ และมาแข่งขันกับน้ำมัน ปาล์มในประเทศมากขึ้น ถ้าหากเป็นเช่นนี้ อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ อาจจะได้รับผลกระทบ ดังต่อไปนี้

ด้านผู้ผลิต

เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่เป็นลูกไร่ของโรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าเกษตรกรผู้ปลูกน้ำมันปาล์มอิสระ เนื่องจากผลปาล์มน้ำมันที่ผลิตได้มีตลาดรองรับที่แน่นอน
โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ อาจเผชิญการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรงจากน้ำมันปาล์มดิบที่นำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ โรงสกัดที่อาจได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ โรงสกัดที่ไม่ได้เป็นบริษัทเครือข่าย หรือไม่ได้ เป็นพันธมิตรกับโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงสกัดรายย่อยขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตไม่มาก และมีต้นทุนในการสกัดสูงกว่าโรงสกัดขนาดใหญ่
โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ อาจมีทางเลือกมากขึ้น ในการจัดหาวัตถุดิบในการผลิตที่มีราคาถูกจากการนำเข้า ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของน้ำมันปาล์มดิบ หรือน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ เพื่อใช้ผลิตน้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภค และการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ ขณะเดียวกัน อาจเผชิญการแข่งขันกับน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องโดยตรง ทั้งนี้ น้ำมันปาล์มบรรจุขวดที่ใช้บริโภคในภาคครัวเรือนอาจจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่นำเข้ามาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียมีสีค่อนข้างแดงและขุ่น แต่ผู้บริโภคไทย นิยมเลือกใช้น้ำมันปาล์มที่มีสีเหลืองใส

ด้านผู้บริโภค

อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์มในประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงการผลิตไบโอดีเซล จะได้รับประโยชน์จากการนำเข้าน้ำมันปาล์ม รวมถึงการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพใน การผลิตของโรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มในประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ต้นทุนการใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมลดลง
ผู้บริโภคในประเทศ จะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคาน้ำมันปาล์มในประเทศที่ลดลง จากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้น้ำมันปาล์มบรรจุขวด สินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์ม รวมถึงไบโอดีเซล มีราคาลดลง นอกจากนี้ กรณีที่ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ การนำเข้าจะเป็นทางหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลนในประเทศได้

     อย่างไรก็ตาม ผลกระทบภายหลังจากการก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะมีผลกระทบมากหรือน้อยเพียง ใดนั้น ขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญต่างๆ ได้แก่ แนวโน้มความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มในตลาดโลก สถานการณ์การผลิตน้ำมันปาล์มของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ หากความต้องการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หรือปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มที่ออกสู่ตลาดโลกน้อยลง จะผลักดันให้ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ส่วนต่างราคา น้ำมันปาล์มในประเทศและต่างประเทศลดลง หรือใกล้เคียงกัน จนส่งผลให้ความต้องการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศลดลง

 แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับผลกระทบจาก AEC

     จากผลกระทบที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ทำให้เกษตรกร และผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำมันปาล์มจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันปาล์ม ของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ในระดับเกษตรกรผู้ปลูก โรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยเน้นการลดต้นทุน และเพิ่มปริมาณผลผลิตที่ได้จากการผลิต เพื่อให้ราคาจำหน่ายสามารถแข่งขันได้กับน้ำมันปาล์มน้ำเข้า ดังนี้

      เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง เช่น การเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมทั้งทาง ด้านภูมิประเทศ (ใกล้แหล่งน้ำ สภาพดินร่วนปนดินเหนียว) และสภาพภูมิอากาศ (อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุก มีช่วงฤดูแล้งสั้น มีอุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส) รวมถึงการคัดเลือกพันธุ์ ในการเพาะปลูกที่มีอัตราการให้น้ำมันสูง การศึกษาระยะเวลาในการใส่ปุ๋ยและประเภทของปุ๋ยที่ใส่ในแต่ละช่วงอายุของต้นปาล์ม การตัดแต่งทางใบ ตลอดจน การวางแผนเพาะปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนต้นเก่าที่มีอายุมากซึ่งจะให้ปริมาณผลผลิตลดลง

      โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพในการรวบรวมวัตถุดิบ (ผลปาล์มน้ำมัน) และการสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อให้อัตราการให้น้ำมัน เพิ่มขึ้น โดยอาจพัฒนาการสกัดน้ำมันแยกระหว่างเนื้อในปาล์มและเนื้อปาล์ม สำหรับโรงสกัดที่มีขนาดใหญ่อาจหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต โดยการนำของเศษปาล์มที่เหลือ จากกระบวนการสกัด (by product) เช่น กะลาปาล์ม ทะลายปาล์ม เส้นใยปาล์ม ไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงาน อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ของปาล์มอีกด้วย

      โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ นอกจากที่ผู้ประกอบการควรจะเพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แล้ว ควรเน้นการบริหารจัดด้านการขนส่งสินค้า (น้ำมันปาล์ม) ไปยังคลังสินค้าของผู้ค้าปลีกรายใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันนับว่ามีต้นทุนในส่วนนี้สูงถึงประมาณ ร้อยละ 20

     นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งโรงกลั่น โรงสกัด รวมถึงสมาคมและสหกรณ์การเกษตรในระดับท้องถิ่นต่างๆ ควรติดตามสถานการณ์การผลิต การจำหน่ายและราคา และความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการผลิต การตั้งราคา และการกระจายสินค้าไปสู่ตลาด รวมถึงการศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการที่สามารถช่วยบรรเทา/ลดผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีการค้าสินค้าเกษตร คือ มาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) ตามข้อผูกพันไว้กับ WTO ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศผู้นำเข้า (ที่ได้รับผลกระทบ) สามารถใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้ รับความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ

     โดยสรุป ปัจจุบัน น้ำมันปาล์มเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ไทยยังคงใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยระบุให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มจะต้องมีการขออนุญาตนำเข้า (Import License) ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยในการที่ไทยจะก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หนึ่งในข้อผูกพัน จะต้องลด/ขจัดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีที่ใช้ในประเทศ ซึ่งหากไทยจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการขออนุญาตนำเข้า จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางด้านของผู้ผลิต ได้แก่ เกษตรกร โรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยในปัจจุบัน ยังมีจุดอ่อนทางด้านต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศสูง กว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างเช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันปาล์มจากประเทศดังกล่าวเข้ามาแข่งขันกับน้ำมันปาล์มในประเทศมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันของผู้ผลิต ที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์ม รวมถึงสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบราคามีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การเตรียมรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็น AEC ในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการควรเร่งแนวทางเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้น้ำมันปาล์มไทยสามารถแข่งขันได้ในอาเซียน

ชาวสวนปาล์มร้องปรับราคาปาล์มน้ำมัน

ชาวสวนปาล์มร้องรัฐปรับราคา

ชาวสวนปาล์มน้ำมัน จ.ชุมพร นัดชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปรับราคาปาล์มน้ำมัน จากกิโลกรัมละ 2 บาทเป็น 4 บาท หลังโดนแหกตามาแล้ว 2 ครั้ง จนเหล่าแกนนำโดนหมายเรียก

 

 6bdab8d96jcabiehkjbj7

 

          วันที่ 14 ม.ค.56 เวลา 10.00 น.  ที่สนามหน้าศาลากลาง จ.ชุมพร ศูนย์ราชการเขาสามแก้ว ชุมพร ได้มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้ง 8 อำเภอของจังหวัดชุมพร กว่า 800 คน ได้รวมตัวกันนำแผ่นป้ายโจมตีการทำงานของรัฐบาล พร้อมกับตั้งเวทีปราศรัยโจมตีการทำงานของผู้ที่เกี่ยวข้องที่ทำให้ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ
 
          นายกฤษณ์ แก้วรักษ์ สมาชิก อบจ.ชุมพร เขตอำเภอท่าแซะ แกนนำเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ได้กล่าวโจมตีและเปิดเผยว่า จนถึงขณะนี้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มทั่วราชอาณาจักร ยังไม่สามารถรับซื้อปาล์มทะลายจากเกษตรกรในราคา 4 บาทต่อกิโลกรัมทั่วจังหวัดชุมพรได้เลย ตามที่ได้มีการแก้ปัญหาที่ตกลงกันเมื่อครั้งที่ผ่านมา โดยบางลานปาล์ม ไม่มีการชื้อในราคาที่กำหนด โดยอ้างว่าลานปาล์มนี้ ซื้อแล้วขายโรงงานชุมพรไม่ได้ ต้องเดินทางไปขายที่สุราษฏรานีแทน
 
          โดยในพื้นที่ อ.หลังสวน อ.ละแม และ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ที่อ้างว่า ลานปาล์มไม่ได้ขายกับโรงงานในชุมพร จึงขายให้โรงงานใน จ.สุราษฏร์ธานี และทางสุราษฏร์ธานี ก็ไม่ได้ทำเอ็มโอยูกับชุมพร จึงทำให้ชาวสวนปาล์มน้ำมันในพื้นที่ดังกล่าว ขายปาล์มน้ำมันได้ในราคา 2.50 บาทเท่านั้น และมาถึงในระยะเวลา 2 สัปดาห์นี้ ลานปาล์มน้ำมันโรงงานในเขตอื่นๆไม่รับซื้อเลย เพราะสำหรับปาล์มที่มีอัตราน้ำมันร้อยละ 17 และราคา 4.35 บาทต่อกิโลกรัม
 
          สำหรับปาล์มน้ำมันที่มีอัตราน้ำมันร้อยละ 18.5 ตามประกาศของรัฐบาล เนื่องจากลานเทและลานปาล์มตามชุมชนต่างๆ ไม่สามารถรับซื้อปาล์มทะลายในราคาดังกล่าวได้ แม้เกษตรกรจะยินยอมให้หักค่าบริหารจัดการตามระยะทาง ในอัตรา 20 – 50 สตางค์ต่อกิโลกรัมโดยบรรดาลานเทและลานปาล์มชุมชนยืนยันจะรับซื้อผลผลิตในราคา 2 บาทกว่าต่อกิโลกรัมเท่านั้น
 
          ทั้งนี้ โรงงานสกัดน้ำมันไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรทำให้เกษตรกร ต้องปล่อยให้เปอร์เซ็นน้ำมัน ในปาล์มทะลาย ต้องลดต่ำลงไปเรื่อยๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะต้องถูกคัดเกรดเป็นผลปาล์มตกชั้น ขายไม่ได้ราคาอีก อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้บรรดาเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันใน จ.ชุมพร ต้องหารือกับผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน 70 ตำบล ใน 8 อำเภอของ จ.ชุมพร
 
          ซึ่งได้ข้อสรุปว่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา โดยในช่วง 10.00 น.ของวันนี้ (14 ม.ค.) เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ทั้ง 8 อำเภอของ จ.ชุมพร จะนัดรวมพลังอีกครั้ง เพื่อชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง บริเวณหน้าวนอุทยานเขาพาง หมู่ 8 ต.ท่าข้าม อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร และบริเวณหน้าวัดพระใหญ่ บนถนนเอเชีย 41 ต.วิสัยเหนือ อ.เมือง จ.ชุมพร พร้อมทั้งยืนยัน เรื่องนี้ไม่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องตามที่คนในรัฐบาลตั้งข้อสังเกตุ แต่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน มุ่งหวังให้รัฐบาลช่วยเหลือจนสามารถขายปาล์มทะลาย ในราคา 4 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น
 
          นายสนั่น สุลีทัศน์ อายุ 61ปีบ้านเลขที่ 5/23 ม.8ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร กล่าวว่า ที่มากันในวันนี้ ชาวสวนปาล์มในพื้นที่ ละแมพะโต๊ะ หลังสวน เหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนมาก เพราะ ทุกอย่างในบ้านมาจากการขายปาล์มและเลี้ยงทุกคนในครอบครัวมากบางรายตัดปาล์มเดือนละ 2 ครั้งเพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่าย
 
          ดังนั้นมาระยะนี้ ราคาปาล์มถูกมาก ค่าใช้จ่ายต่างก็ลดลงตามอัตรา ไม่ว่าลูกเรียน ค่าใช้จ่ายในครัวเรือน สารพัด บางคนบางครอบครัว บ้านกับสวนปาล์มอยู่ไกลกันต้องเดินทางมาตัดปาล์ม เสียค่าน้ำมันรถด้วยแล้วมาเสียค่าตัดปาล์มราคาเท่าเดิมจนบ้างรายทิ้งไม่ตัดมาหลายงวด จึงสร้างความกดดันให้กับชาวสวนปาล์มมากในเวลานี้
…………………………………